
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร ครบรอบปีที่ 62
ในปี พ.ศ. 2501 เกิดการระบาดของอหิวาตกโรคขึ้นในประเทศไทย มีผู้คนเจ็บป่วยล้มตาย นับพันคน จึงมีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐอเมริการ่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ฝ่ายไทย ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ต่อมาคณะมนตรีขององค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเซียอาคเนย์ หรือองค์การ สปอ. จึงมีมติให้จัดตั้ง " หน่วยปฏิบัติการวิจัยอหิวาตกโรคของ องค์การ สปอ. หรือ SEATO Cholera Research Laboratory " ขึ้นในปี 2502 เพื่อค้นคว้า วิจัย เกี่ยวกับอหิวาตกโรคในปัญหาต่างๆ และจัดต้องห้องปฏิบัติการทดลองที่ตึกพยาธิวิทยาหน่วยงานดังกล่าวได้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพในการป้องกันการระบาดขอ อหิวาตกโรค ดังนั้นเมื่อการระบาดอหิวาตกโรคสงบลง ทำให้ที่ประชุมของคณะมนตรีขององค์การ สปอ. มีมติให้เปลี่ยนการดำเนินการเป็น " หน่วยปฏิบัติการทางการแพทย์ขององค์การ สปอ. หรือ SEATO Medical Research Laboratory " เมื่อ 23 ธันวาคม 2503 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานร่วมกันระหว่างกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา และกระทรวงกลาโหมของไทย
ต่อมา ปี พ.ศ. 2504 กระทรวงกลาโหมได้อนุมัติอัตราจัดตั้ง เป็น " สำนักงานโครงการวิจัยทางการแพทย์ขององค์การ สปอ. หรือ SEATO LAB ( สน.วพ.สปอ. ) "
ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม (เฉพาะ ) ที่ 91/19074 ลง 26 กันยายน 2504 เป็นส่วนราชการขึ้นตรงต่อสำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม ประกอบด้วย หน่วยวิจัยฝ่ายไทย หน่วยวิจัยฝ่ายสหรัฐอเมริกา แต่งตั้งให้ พล.ต.พึ่ง พินทุโยธินผู้อำนวยการสถาบันพยาธิวิทยาในขณะนั้น ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานโครงการวิจัยทางการแพทย์ขององค์กร สปอ. สำหรับหน่วยวิจัยฝ่ายสหรัฐอเมริกา LTC Oscar Felsenfeld ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการคนแรก ณ จุดนี้ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นกำเนิดของ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งนี้อย่างเป็นทางการ
ในช่วงแรกหน่วยงานนี้ยังไม่มีสถานที่เป็นของตนเอง ได้ใช้พื้นที่บางส่วนของสถาบันพยาธิวิทยา เป็นสถานที่ปฏิบัติงาน เมื่อขอบข่ายและปริมาณงานของโครงการเพิ่มขึ้น จึงได้จัดสร้างอาคารเป็นของตนเองหลายอาคาร ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2506 -2511 อาคารแรกที่ก่อสร้างคือ อาคารที่ตั้งตึกอำนวยการ มีพิธีวางศิลาฤกษ์ ตึกสำนักงานโครงการวิจัยทางการแพทย์ขององค์การ สปอ. เมื่อ 6 มิถุนายน 2506 โดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี และได้ทำพิธีเปิด เมื่อ 8 กันยายน 2507 โดย จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี
พ.ศ. 2510 ได้ก่อสร้างอาคารเลี้ยงสัตว์ทดลอง ในพื้นที่ถนนโยธี
พ.ศ. 2511 ก่อสร้างอาคารห้องประชุมและห้องสมุด ตึกปฏิบัติการวิจัยทางการแพทย์ 2
พ.ศ. 2520 มีการยุบองค์การ สปอ. ทำให้สำนักงานวิจัยทางการแพทย์ขององค์การ สปอ. ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร หรือ Armed Forces Research Institute of Medical Sciences โดยให้เป็นหน่วยงานของสำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด ใช้ชื่อย่อว่า สวพ.ทหาร
พ.ศ. 2531 ปรับโอนเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกรมแพทย์ทหารบก จึงเปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร กรมแพทย์ทหารบก ใช้ชื่อย่อว่า สวพท.พบ.
พ.ศ. 2550 ได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยเป็นหน่วยขึ้นตรงศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า จนถึงปัจจุบัน ใช้ชื่อย่อว่า สวพท.